วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555

นาฎยศัพท์

นาฎยศัพท์
   เป็นคำศัพท์เฉพาะ ใช้ในการฟ้อนรำ สามารถสื่อความหมายกันได้ แสดงลักษณะและการเคลื่อนไหว
ของร่างกายที่สัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง
 
ตัวนางและตัวพระ

ตัวพระและตัวนาง
การฝึกปฏิบัตินาฏยศัพท์จะแบ่งผู้เรียนเป็น 2 กลุ่ม คือ ตัวพระ และตัวนาง

 

นาฏยศัพท์การใช้มือ  นาฏยศัพท์การใช้มือ แบ่งเป็น

จีบ

จีบ

    จีบ หมายถึง กริยาของมือที่ใช้นิ้วหัวแม่มือ จรดกับข้อแรกของนิ้วชี้ ( นับจากปลายนิ้ว ) ส่วนนิ้วกลาง นิ้วนาง นิ้วก้อย กรีดเหยียดตึง หักข้อมือเข้าหาลำแขน


การจีบมีหลายลักษณะ ดังนี้

จีบหงาย

จีบหงาย
จีบหงาย เป็นการหงายมือจีบพร้อมหักข้อมือให้ปลายนิ้วชี้ ชี้ขึ้นด้านบน
จีบคว่ำ


จีบคว่ำ เป็นการคว่ำมือที่จีบพร้อมหักข้อมือลงให้ปลายนิ้วชี้ ชี้ลงล่าง
จีบหลัง

จีบหลัง
จีบหลัง เมื่อทำมือจีบ ให้ส่งลำแขนและมือไปด้านหลัง เหยียดแขนตึงและพลิกข้อมือจีบให้หงายขึ้น
จีบปรกข้าง
จีบปรกข้าง
จีบปรกข้าง เป็นการยกส่วนแขนและจีบสูงระดับวงบน หันมือที่จีบเข้าหาแง่ศีรษะ
จีบปรกหน้า

จีบปรกหน้า
   จีบปรกหน้า เป็นการจีบ โดยยกแขนและมือที่จีบ ให้นิ้วสูงระดับหน้าผาก หันมือที่จีบเข้าหาใบหน้าและหักข้อมือเข้าหาแขน
จีบหงายชายพก

จีบหงายชายพก
จีบหงายชายพก หมายถึง การนำมือที่จีบมาไว้ทำหัวเข็มขัด ให้หงายข้อมือขึ้น
จีบล่อแก้ว

จีบล่อแก้ว
   จีบล่อแก้ว เป็นกริยาของมือ ให้นิ้วหัวแม่มือกดปลายนิ้วกลาง นิ้วที่เหลือกรีดออกให้ตึง หักข้อมือเข้าหาลำแขน
ตั้งวง
ตั้งวง
   ตั้งวง เป็นการยกแขนให้ลำแขนโค้ง  นิ้วทั้งสี่เรียงชิดติดกัน ส่วนนิ้วหัวแม่มือหักเข้าหาฝ่ามือเพียงเล็กน้อย และหักข้อมือไปทางหลังมือเสมอ   
การตั้งวงมีหลายลักษณะ ดังนี้
วงบน

ตั้งวงบน
   วงบน ให้ยกแขนที่ตั้งวงไปด้านข้าง ตัวพระให้ปลายนิ้วสูงระดับแง่ศีรษะ ส่วนตัวนางปลายนิ้วอยู่ระดับหางคิ้ว วงบนของตัวพระจะกว้างกว่าตัวนาง
วงกลาง

ตั้งวงกลาง
   วงกลาง เป็นการยกแขนที่ตั้งวงไปด้านข้าง ให้ปลายนิ้วสูงระดับไหล่
วงหน้า

วงหน้า
   วงหน้า เป็นการยกแขนที่ตั้งวงไปด้านหน้า ปลายนิ้วของตัวพระอยู่ระดับข้างแก้ม ส่วนตัวนางปลายนิ้วอยู่ระดับปาก
วงล่าง

วงล่าง

   วงล่าง เป็นการตั้งวงระดับหัวเข็มขัดโดยทอดลำแขนโค้งลงด้านล่าง ตัวพระกันศอกให้เป็นช่องว่างระหว่างแขนกับลำตัว ส่วนตัวนางไม่ต้องกันศอก
วงบัวบาน

วงบัวบาน
   วงบัวบาน เป็นการตั้งวงโดยการหงายลำแขน พร้อมทั้งหักข้อศอก ในลักษณะตั้งฉาก หงายฝ่ามือและหักข้อมือลง แทงปลายมือออกไปด้านข้าง ให้วงอยู่ระดับแง่ศีรษะ

นาฏยศัพท์การใช้เท้า
ประเท้า

ประเท้า
   ประเท้า เป็นการย่อเข่าข้างที่เท้ายืนรับน้ำหนัก ส่วนเท้าอีกข้างหนึ่งวางเหลื่อมข้างที่ยืน โดยวางส้นเท้าติดพื้น และใช้จมูกเท้าแตะพื้นเบาๆแล้วยกขึ้น
ยกเท้า

ยกเท้า
    ยกเท้า เป็นกริยาต่อจากการประเท้า โดยยกเท้าขึ้นด้านหน้าให้ฝ่าเท้าขนานกับพื้น ยกเท้าสูงระดับหน้าแข้งของเท้าที่ยืนรับน้ำหนักเชิดปลายนิ้วเท้าขึ้น ให้เฉียงปลายเท้าเล็กน้อย ตัวนางไม่กันเข่า ตัวพระกันเข่าออกให้เห็นเหลี่ยมขา และหันน่องออกด้านหน้า
ตบเท้า

ตบเท้า
   ตบเท้า เป็นการวางส้นเท้าข้างที่ตบชิดกับเท้าข้างที่ยืนรับน้ำหนัก ย่อเข่าลงและเผยอจมูกเท้าขึ้น สะดุ้งตัวขึ้น ตบเท้าตามจังหวะเพลง
ก้าวเท้า

ก้าวเท้า
   ก้าวเท้า เป็นการก้าวเท้าให้ส้นเท้าวางถึงพื้นก่อนปลายเท้าเสมอ ให้ปลายเท้าเฉียงออกด้านข้างเล็กน้อย และเปิดส้นเท้าหลัง
ก้าวข้าง

ก้าวข้าง
   การก้าวข้าง ตัวพระให้ก้าวเท้าไปด้านข้าง ย่อเข่าลง และกันเข่าออก ทิ้งน้ำหนักลงเท้าข้างที่ก้าว เท้าอีกข้างไม่ต้องเปิดส้น ส่วนตัวนางก้าวเท้าไปด้านข้าง ให้ส้นเท้าที่ก้าวอยู่เหนือเท้าข้างที่ยืนเล็กน้อย ทิ้งน้ำหนักตัวลง เปิดส้นเท้าหลังและหลบเข่าตาม
กระทุ้งเท้า

กระทุ้งเท้า
   กระทุ้งเท้า เป็นกริยาของเท้าที่วางอยู่ข้างหลัง โดยยืนเปิดส้นเท้า ให้นิ้วเท้าทั้ง 5 วางลงบนพื้นด้วยจมูกเท้า พร้อมทั้งกระแทกจมูกเท้ากับพื้นเบาๆ
กระดกเท้า
กระดกเท้า
   กระดกเท้า เป็นกริยาต่อเนื่องจากการกระทุ้งเท้าแล้วยกขึ้น วิธีกระดกเท้า ต้องให้ส่วนของน่องหนีบติดกับท้องขา โดยส่งเข่าไปด้านหลังให้มากที่สุด ปลายนิ้วเท้าชี้ลง
ถัดเท้า

ถัดเท้า
เป็นการก้าวเท้าซ้ายด้านหน้า ให้ส้นเท้าขวากระแทกพื้นใกล้ ๆ เท้าซ้ายจากนั้นก้าวเท้าขวา ทำซ้ำไปเรื่อยๆ


ภาษาท่าทางนาฏศิลป์
   ภาษาท่าทางนาฏศิลป์  ในชีวิตประจำวันทุกวันนี้มนุษย์เราใช้ท่าทางประกอบการพูดหรือบางครั้งมีการแสดงสีหน้า ความรู้สึก เพื่อเน้นความหมายด้วยในทางนาฏศิลป์ ภาษาท่าเสมือนเป็นภาษาพูด โดยไม่ต้องเปล่งเสียงออกมา แต่อาศัยส่วนประกอบอวัยวะของร่างกาย แสดงออกมาเป็นท่าทาง โดยเลียนแบบท่าทางธรรมชาติ เพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าใจได้ การปฏิบัติภาษาท่าทางนาฏศิลป์แบ่งออกได้ ดังนี้
   1. ภาษาท่าทางนาฏศิลป์ที่ใช้แทนคำพูด เช่น ฉัน เธอ ท่าน ปฏิเสธ ท่าเรียก ท่าไป
    2. ภาษาท่าทางนาฏศิลป์อิริยาบทหรือกิริยาอาการ เช่น ท่ายืน ท่าเดิน ท่านั่ง
    3. ภาษาท่าทางนาฏศิลป์ที่ใช้แสดงอารมณ์ความรู้สึก เช่น ดีใจ เสียใจ โกรธ เศร้าโศก
ภาษาท่าทางนาฏศิลป์ที่ใช้แทนคำพูด
    การเปรียบเทียบท่าทางธรรมชาติ กับภาษาท่าของตัวพระและตัวนาง
ท่าแนะนำตัวเอง
ท่าแนะนำตัวเอง
เป็นการทำมือซ้ายตั้งวงหน้าแล้วพลิกข้อมือ เปลี่ยนเป็นจีบหันเข้าหาตัวระหว่างอกมือขวาเท้าสะเอว
หรือจีบหลังก็ได้
ท่าท่าน
ท่าท่าน
เป็นการใช้มือข้างใดข้างหนึ่ง โดยใช้ส่วนทั้งหมดของฝ่ามือในลักษณะของการตะแคงสันมือระดับศีรษะ
นิ้วเหยียดตึงให้ปลายมือไปสู่ผู้ที่กล่าวถึง ผู้ที่อาวุโสหรือศักดิ์สูงกว่า
ท่าปฏิเสธท่าปฏิเสธ
เป็นการใช้มือข้างใดข้างหนึ่ง ตั้งวงหน้า สั่นปลายนิ้วไปมาช้าๆ
ท่าเรียก
ท่าเรียก
เป็นการใช้มือข้างใดข้างหนึ่ง ตั้งวงด้านหน้า  แล้วกดข้อมือลง
เดินมือเข้าหาตัวเล็กน้อย  เอียงตรงข้ามกับมือที่เรียก
ท่าไป
ท่าไป
เป็นการทำมือจีบหงายระดับไหล่ แล้วหมุนข้อมือเป็นจีบคว่ำลง หักข้อมือ
ปล่อยจีบออกเป็นวง เอียงศีรษะตรงข้ามกับมือที่ทำ

ภาษาท่าแสดงกริยาอาการ
ท่านั่งตัวนางและตัวพระ


ท่านั่งตัวนางและตัวพระ

ตัวพระ นั่งพับเพียบไปทางขวา แยกเข่าซ้ายออกให้เท้าซ้ายวางหน้าหัวเข่าขวา มือซ้ายเหยียดตึงแบมือตั้งบนเข่าซ้ายมือขวางอแขนแบมือตั้งบนขาขวา ลำตัวตั้งตรง

ตัวนาง นั่งพับเพียบไปทางขวา เชิดปลายนิ้วเท้ามาด้านหน้าเท้าขวาซ้อนบนเท้าซ้าย มือซ้ายแบมือวางบนขาขวาด้านนอก มือขวาแบมือวางถัดมาทางด้านใน งอแขนขวา เอียงขวา
ท่ายืน

ท่ายืน

ตัวพระ  ใช้เท้าขวายืนรับน้ำหนัก ส่วนเท้าซ้ายวางเท้าเหลื่อมเท้าขวา ตึงเข่าซ้ายเชิดปลายนิ้วเท้าขึ้น
มือขวาเท้าสะเอว  มือซ้ายแบฝ่ามือวางแนบไว้ที่หน้าขา  ศีรษะเอียงไปทางขวา กดไหล่ขวาลง
ตัวนาง  ยืนด้วยเท้าขวา เท้าซ้ายวางเหลื่อมไว้ เชิดปลายนิ้วเท้าซ้าย มือขวาจีบหงายที่ชายพก
มือซ้ายแบมือวางบนหน้าขาซ้าย เหยียดแขนตึง ศีรษะเอียงซ้าย กดไหล่ซ้าย


ท่า นางไหว้ พระรับไหว้
ท่านางไหว้พระรับไหว้
เป็นการพนมมือระหว่างอก แยกปลายนิ้วให้ออกจากกัน
ท่าเดิน

ท่าเดิน

ตัวพระ เริ่มด้วยการก้าวเท้าซ้ายมาข้างหน้า เท้าขวาเปิดส้นเท้า มือทั้งสองจีบคว่ำระดับเอวข้างลำตัวทั้งสองข้าง แล้วปล่อยจีบเป็นมือขวาตั้งวงล่างระดับเอว มือซ้ายตั้งมือทอดแขนข้างลำตัวเอียงขวา ต่อไปก้าวเท้าขวา ส่วนเท้าซ้ายเปิดส้นด้านหลัง มือทั้งสองจีบคว่ำ แล้วปล่อยจีบเป็นมือซ้ายตั้งวงล่าง มือขวาแบออกทอดแขนข้างลำตัวเอียงทางซ้าย ทำสลับกันไปเรื่อยๆ

ตัวนาง (ท่าเดินมือเดียว) เริ่มด้วยก้าวเท้าซ้ายด้านหน้า เท้าขวาเปิดส้น มือซ้ายทำจีบหงายที่ชายพก
มือขวาแบมือตั้งแขนตึง แล้วหยิบจีบคว่ำแล้วเคลื่อนมือมาปล่อยเป็นวงล่างเอียงขวา ต่อด้วยก้าวเท้าขวาด้านหน้า เท้าซ้ายเปิดส้น มือซ้ายจีบหงายเหมือนเดิม หยิบจีบคว่ำที่ชายพก แล้วเคลื่อนมือขวาไปข้างลำตัว ปล่อยจีบเป็นมือแบแขนตึง กดไหล่และเอียงศีรษะไปทางซ้าย ทำสลับกันทั้งซ้ายและขวา


ภาษาท่าแสดงอารมณ์ความรู้สึก
ท่าดีใจ
ท่าดีใจ
เป็นการใช้มือซ้ายกรีดจีบ หักข้อมือให้ปลายนิ้วชี้และหัวแม่มือหันเข้าหาใบหน้าให้อยู่ตรงกับปาก
ท่ารัก
ท่ารัก
เป็นการทำมือทั้งสองตั้งวงไขว้กันระดับอก   แล้วหมุนข้อมือทาบลงที่ฐานไหล่
ท่าอาย
ท่าอาย
เป็นการใช้ฝ่ามือแตะข้างแก้มใกล้ขากรรไกร ก้าวเท้าข้างที่มือแตะแก้มไขว้ไปอีกด้านตรงข้าม
(ก้าวหลบคนที่เราอาย) ส่วนใหญ่เป็นท่าของตัวนาง

ท่าร้องไห้
ท่าร้องไห้
เป็นการใช้มือซ้ายแตะที่หน้าผาก มือขวาจีบหงายที่ชายพก ตัวพระมือขวาเท้าสะเอว ก้มหน้าเล็กน้อย พร้อมสะดุ้งตัวขึ้นเหมือนกำลังสะอื้น แล้วจึงใช้นิ้วชี้ซ้ายแตะที่นัยน์ตาทั้งสองข้าง เหมือนกำลังเช็ดน้ำตา
ท่าโกรธ
ท่าโกรธ
เป็นการใช้ฝ่ามือข้างใดข้างหนึ่งถูที่ก้านคอใต้ใบหูไปมา แล้วกระชากลง ถ้ากระชากเบาๆก็เพียงเคืองใจ
แต่ถ้ากระชากแรงๆพร้อมทั้งกระทีบเท้าลงกับพื้นแสดงว่าโกรธจัด
ท่าโศกเศร้า, เสียใจ, ห่วงใย
ท่าโศกเศร้า เสียใจ
เป็นการประสานลำแขนส่วนล่าง ใช้ฝ่ามือทั้งสองวางทาบระดับหน้าท้องใกล้ๆกระดูกเชิงกราน

วันอาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การแสดงโขน ตอนศึก มัยราบ

การแสดงโขน ชุด ศึกมัยราพณ์
ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จัดโดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เดือนกรกฎาคม 2554



























การแต่งกายของผู้แสดงโขน

การแต่งกายของผู้แสดงโขน

แบ่งเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายมนุษย์ เทวดา (พระ - นาง) ฝ่ายยักษ์ และฝ่ายลิง

1. ตัวพระ สวมเสื้อแขนยาวปักดิ้น และเลื่อม มีอินทรธนูที่ไหล่ส่วนล่างสวมสนับเพลา ไว้ข้างในนุ่งผ้ายกจีบโจงไว้หางหงส์ทับสนับเพลา ด้านหน้ามีชายไหวชายแครงห้อยอยู่ ศีรษะสวมชฎาสวมเครื่องประดับต่างๆ เช่น กรองคอ ทับทรวง ตาบทิศ ปั้นเหน่ง ทองกร กำไลเท้าเป็นต้น แต่เดิมตัวพระจะสวมหัวโขน แต่ภายหลัง ไม่นิยม เพียงแต่แต่งหน้าและสวมชฎาแบบละครในเท่านั้น ทั้งเทวดาและมนุษย์ แต่งกายเหมือนกันหมดคือ แต่งยืนเครื่องอย่างพระผิดกันแต่สีเสื้อเปลี่ยนไปตามสีกายประจำตัวละคร เช่น พระอินทร์สีเขียวพระพรหมสีขาว ท้าวมาลีวราชสีขาว พระราม สีเขียว พระลักษมณ์สีทอง พระพรตสีแดงชาดและพระสัตรุดสีม่วงอ่อน เป็นต้น เข้าใจว่าในสมัยโบราณตัวพระจะสวมหน้าด้วยเครื่องประดับศีรษะจึงมีหลายลักษณะ ของเทวดาเป็นมงกุฎยอดต่างๆ เช่นพระอินทร์เป็นมงกุฎเดินหนท้าวมาลีวราชเป็นมงกุฎยอดชัย หรือมงกุฎน้ำเต้าของมนุษย์เป็นมงกุฎชัย หรือชฎาพระ


Pic_ตัวพระ.jpg
หมายเหตุ : ซ้ายของภาพแสดงเสื้อแขนสั้น ไม่มีอินทรธนู ส่วนทางขวาของภาพแสดงเสื้อแขนยาวมีอินทรธนู


2. ตัวนาง สวมเสื้อแขนสั้นเป็นชั้นในแล้วห่มสไบทับ ทิ้งชายไปด้านหลังยาวลงไปถึงน่องส่วนล่างนุ่งผ้ายกจีบหน้า ศีรษะสวมมงกุฎ รัดเกล้าหรือกระบังหน้าตามแต่ฐานะของตัวละคร ตามตัวสวมเครื่องประดับต่างๆ เช่น กรองคอสังวาล พาหุรัด เป็นต้น แต่เดิมตัวนางที่เป็นตัวยักษ์ เช่น นางสำมนักขา นางกากนาสูรจะสวมหัวโขน แต่ภายหลังมีการแต่งหน้าไปตามลักษณะของ ตัวละครนั้นๆโดยไม่สวมหัวโขนบ้าง ตัวนางจะแต่งยืนเครื่องนางหมดทุกตัว ผิดกันแต่เครื่อง สวมศีรษะ คือ พระชนนีทั้งสามของพระราม นางสีดา มเหสีพระอินทร์ นางมณโฑนางเทพอัปสร นาง วานริน นางบุษมาลี ตลอดจนนางสุพรรณมัจฉานางสุวรรณกันยุมา นางตรีชฎาสวมรัดกล้ายอด นางเบญกายสวมรัดเกล้าเปลว ส่วนนางกาลอัคคี สวมมงกุฎยอดนาคนางกำนัลสวม กระบังหน้านางสุพรรณมัจฉามีหางปลาติดไว้ที่ส่วนหลังใต้เข็มขัดด้วยเพราะมีสัญชาติเป็นปลา



Pic_ตัวนาง.jpg
หมายเหตุ : บางครั้งไม่จำเป็นต้องแต่งครบทุกชิ้นตามนี้ก็ได้


3. ตัวยักษ์ แบ่งออกเป็นระดับต่างๆ คือ พญายักษ์ เสนายักษ์ และเขนยักษ์ พญายักษ์ เช่น ทศกัณฐ์อินทรชิต ไมยราพ พิเภก สหัสเดชะ แสงอาทิตย์ จะนุ่งผ้าเยียรบับทับสนับเพลาเช่นเดียวกันกับตัวพระแต่ไม่ไว้โจงหางหงส์ แต่จะมีผ้าปิดก้นห้อยลงมาจากเอว เครื่องประดับส่วนใหญ่เช่นเดียวกันกับตัวพระ เพียงแต่มีเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือตัวพญายักษ์ชั้นผู้ใหญ่ เช่น ทศกัณฐ์ มักจะมีรัดอกคาดอยู่ด้วย เสนายักษ์นุ่งผ้าเกี้ยว นอกนั้นก็เหมือนพญายักษ์ เพียงแต่ไม่มีรัดอก เขนยักษ์สวมเสื้อผ้าธรรมดา นุ่งผ้าลาบทับสนับเพลา ผ้าปิดก้นไม่มี คาดเอวด้วยผ้า มีกรองคอทำด้วยผ้าธรรมดาสวมศีรษะเขียนลาย พญายักษ์และเสนายักษ์แต่ละตัวมีสีกายและสีหน้าประจำตัวมีหัวโขนเฉพาะของตัว มียอดของส่วนมงกุฎแต่งต่างกันออกไป บางพวกก็ไม่มีมงกุฎเรียกว่า ยักษ์โล้นนางอดูลปิศาจ เครื่องแต่งตัวบางทีไม่ใช้ยืนเครื่องอย่างนางแต่รวบชายล่างขึ้นโจงกระเบน ดูก็เหมือนยักษ์อื่นๆ คาดเข็มขัดแต่ไม่มีห้อยหน้าเจียระบาดอย่างพญายักษ์ สวมเสื้อแขนยาวอย่างยักษ์ผู้ชายแต่มีห่มนางทับบนเสื้อ เครื่องประดับอื่นๆ คล้ายตัวนางทั่วๆไปส่วนนางยักษ์ที่เป็นมเหสีหรือธิดาของพญายักษ์ แต่งกายยืนเครื่องนางสวมมงกุฎหรือรัดเกล้า ไม่สวมหัวโขน

Pic_ตัวยักษ์.jpg
หมายเหตุ : บรรดาพญายักษ์ตัวสำคัญอื่นๆในการแสดงโขน จะแต่งกายคล้ายแบบนี้ ต่างกันแต่สีและลักษณะของหัวโขน
ซึ่งนายช่างได้บัญญัติ และประดิษฐ์ให้แปลกแตกต่างกันเฉพาะหัวยักษ์มีอยู่ราวร้อยชนิด


4. ตัวลิง แบ่งออกเป็นพวกๆ ได้แก่ พญาวานร เช่น หนุมาน สุครีพ องคต ฯลฯ พวกสิบแปดมงกุฎเช่น มายูร เกยูร เกสรมาลา ฯลฯ พวกเตียวเพชร เช่น โชติมุก พวกจังเกียงและพวกเขนลิง พวกพญาวานรและพวกอื่นๆ ยกเว้นเขนลิง แต่งตัวยืนเครื่องและสวมเสื้อตามสีประจำตัวในเรื่องรามเกียรติ์ แต่ไม่มีอินทรธนูนุ่งผ้าไม่จีบโจงหางหงส์ มีผ้าปิดก้นห้อยเอวลงจากด้านหลังเช่นเดียวกับยักษ์และมีหางห้อยอยู่ข้างใต้ ผ้าปิดก้น เฉพาะตัวมัจฉานุมีหางเป็นปลาผิดจากลิงอื่นๆลิงเหล่านี้แต่ละตัวมีหัวโขนเฉพาะของตัว ทั้งที่เป็นมงกุฎยอดต่างๆและทั้งที่ไม่มีมงกุฎเรียกว่า ลิงโล้น เสื้อลิงนั้นใช้ดิ้นและเลื่อมปักทำเป็นเส้นขด สมมติว่าเป็นขนตามตัวของลิง ไม่ทำเป็นลายดอกอย่างเสื้อตัวพระหรือยักษ์ และไม่มีอินทรธนู เขนลิงสวมเสื้อแขนยาวผ้าธรรมดา กรองคอก็เป็นผ้าธรรมดา นุ่งกางเกงคาดเข็มขัดมีหางและผ้าปิดก้น สวมศีรษะเขนลิง



Pic_ตัวลิง.jpg
หมายเหตุ :บรรดาวานรตัวสำคัญอื่นๆในการแสดงโขน จะแต่งกายคล้ายแบบนี้ ต่างกันแต่สีและลักษณะของหัวโขน ซึ่งนายช่างได้บัญญัติ และประดิษฐ์ให้แปลกแตกต่างกันเฉพาะหัวลิงมีอยู่ประมาณ 40 ชนิด
5. ตัวเบ็ดเตล็ด ได้แก่ ตัวละครอื่นๆ เป็นต้นว่าฤาษีต่างๆ เช่น พระวสิษฐ์ พระสวามิตร พระโคบุตร เป็นต้น ล้วนแต่งกายแบบฤาษีเช่นเดียวกับเรื่องอิเหนาแต่ศีรษะคงสวมหัวโขน เป็นประจำช้างเอราวัณ สวมศีรษะช้างสามเศียร สีขาวมงกุฎยอดน้ำเต้า ส่วนช้างธรรมดาก็ใช้เช่นเดียวกับในเรื่องอิเหนาม้าอุปการสวมหน้าม้าสีดำ ปากแดง ส่วนมากลากราชรถอื่นๆ มีศีรษะ ม้าสวม มีหลายสีครอบไว้เหนือกระหม่อมหรืออาจใช้มาแผงห้อยไว้ที่ข้างลำตัว อย่างเรื่องอิเหนาก็ได้ นอกจากนี้ก็มีตัวเบ็ดเตล็ดอื่นๆซึ่งล้วนแต่สวมศีรษะสัตว์โดยได้จำลองเลียนแบบลักษณะของจริงมาหรือประดิษฐ์ให้ตรงกับในบท เช่น กวางทอง พญาครุฑเหยี่ยว ปลา พญานาค มหิงสา เป็นต้น

ข้อมูลจาก
http://nanticha.wikispaces.com/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%94%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%82%E0%B8%99

ความสำคัญของการแสดงโขน

  • โขน ในภาษาเบงกาลี ซึ่งมีคำว่า โขละ หรือ โขล ซึ่งเป็นชื่อของเครื่องดนตรีประเภทหนังชนิดหนึ่งของฮินดู โดยตัวรูปร่างคล้าย มฤทังคะ ( ตะโพน ) ส่วนใหญ่เป็น เครื่องดนตรีที่พวกไวษณพนิกายในแคว้น แบงกอลนิยมใช้ประกอบการ เล่นชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ยาตรา ซึ่งหมายถึง ละครเร่ และหากเครื่องดนตรีชนิดนี้ได้เคยนำเข้ามาในดินแดนไทย แล้วนำมาใช้ประกอบการ เล่นนาฏกรรมชนิดหนึ่ง เราจึงเรียกการแสดง ชุดนั้นว่า โขล ตามชื่อเครื่องดนตรี
  • โขน ในภาษาทมิฬ เริ่มจากคำว่า โขล มีคำเพียงใกล้เคียงกับ โกล หรือ โกลัม " ในภาษาทมิฬ ซึ่งหมายถึงเพศ การแต่งตัว หรือการประดับตกแต่งตัวตามลักษณะของเพศ
  • โขน ในภาษาอิหร่าน มาจากคำว่า ษูรัต ควาน (Surat khwan) ซึ่งษูรัตแปลว่า ตุ๊กตาหรือหุ่น ซึ่งผู้อ่านหรือผู้ขับร้องแทนตุ๊กตาหรือหุ่นเรียกว่า ควาน หรือโขน (Khon) ซึ่งคล้ายกับ ผู้พากย์และผู้เจรจาอย่างโขน
  • โขน ในภาษาเขมร ในพจนานุกรมภาษาเขมร มีคำว่า ละคร แต่เขียนเป็นอักษรว่า ละโขน ซึ่งหมายถึง มหรสพอย่างหนึ่งเล่นเรื่องต่างๆ กับมีคำว่า โขล อธิบายไว้ในพจนานุกรมเขมรว่า โขล ละคอนชาย เล่นเรื่องรามเกียรติ์

หากที่มาของโขนมา จากคำในภาษาเบงคาลี ภาษาทมิฬและภาษาอิหร่าน ก็คงจะมาจากพวกพ่อค้าวาณิช และศาสนาจารย์ของชาวพื้นเมืองประเทศนั้น ๆ แพร่มาสู่ดินแดนในหมู่เกาะชวา มาลายูและแหลมอินโดจีน
จากข้อสันนิษฐานต่างๆ ยังมิอาจสรุปได้แน่นอนว่า โขนเป็นคำมาจากภาษาใด แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ที่ใช้กันในปัจจุบันนี้จะพบว่า โขน หมายถึง การเล่นอย่างหนึ่งคล้ายละครรำ แต่เล่นเฉพาะในเรื่องรามเกียรติ์ โดยผู้แสดงสวมหัวจำลอง ต่างๆ ที่เรียกว่า หัวโขน

ข้อมูลจาก
https://nanticha.wikispaces.com/%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%82%E0%B8%82%E0%B8%99

วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประเภทของโขน

โขน
        โขนเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงที่เก่าแก่ของไทย มีมานานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตามหลักฐานจากจดหมายเหตุของ
ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้กล่าวถึงการเล่นโขนว่า เป็นการเต้นออกท่าทางเข้ากับเสียงซอและเครื่องดนตรีอื่นๆ ผู้เต้นสวมหน้ากากและถืออาวุธ  โขนเป็นที่รวมของศิลปะหลายแขนงคือ โขนนำวิธีเล่นและวิธีแต่งตัวบางอย่างมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ โขนนำท่าต่อสู้โลดโผน ท่ารำท่าเต้นมาจากกระบี่กระบอง และโขนนำศิลปะการพากย์การเจรจา หน้าพาทย์เพลงดนตรี การแสดงโขน ผู้แสดงสวมศีรษะคือหัวโขน ปิดหน้าหมด ยกเว้น เทวดา มนุษย์ และมเหสี ธิดาพระยายักษ์  มีต้นเสียงและลูกคู่ร้องบทให้และมีคนพากย์และเจรจาให้ด้วย  เรื่องที่แสดงนิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์และอุณรุฑ  ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงโขนใช้วงปี่พาทย์


ประเภทของโขน แบ่งออกเป็น ๕ ประเภท คือ
๑  โขนกลางแปลง
๒  โขนโรงนอก หรือโขนนั่งราว
๓  โขนหน้าจอ
๔  โขนโรงใน
๕  โขนฉาก




๑. โขนกลางแปลง คือ การเล่นโขนบนพื้นดิน ณ กลางสนาม ไม่ต้องสร้างโรงให้เล่น นิยมแสดงตอนยกทัพรบกัน โขนกลางแปลงได้วิวัฒนาการมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ เรื่องกวนน้ำอมฤต เรื่องมีอยู่ว่า เทวดาและอสูรใคร่จะเป็นอมตะ จึงไปทูลพระนารายณ์ พระนารายณ์จึงแนะนำให้กวนน้ำอมฤต โดยใช้เขามนทคิรีเป็นไม้กวน เอาพระยาวาสุกรีเป็นเชือกพันรอบเขา เทวดาชักทางหาง หมุนเขาไปมา พระยาวาสุกรีพ่นพิษออกมา  พระนารายณ์เชิญให้พระอิศวรดื่มพิษนั้นเสีย พระอิศวรจึงมีศอสีนิลเพราะพิษไหม้  ครั้นกวนต่อไป เขามนทคิรีทะลุลงไปใต้โลก พระนารายณ์จึงอวตารเป็นเต่าไปรองรับเขามนทคิรีไว้  ครั้นได้น้ำอมฤตแล้ว เทวดาและอสูรแย่งชิงน้ำอมฤตกันจนเกิดสงคราม พระนารายณ์จึงนำน้ำอมฤตไปเสีย พวกอสูรไม่ได้ดื่มน้ำอมฤตก็ตายในที่รบเป็นอันมาก เทวดาจึงเป็นใหญ่ในสวรรค์  พระนารายณ์เมื่อได้น้ำอมฤตไปแล้ว ก็แบ่งน้ำอมฤตให้เทวดาและอสูรดื่ม พระนารายณ์แปลงเป็นนางงามรินน้ำอมฤตให้เทวดา แต่รินน้ำธรรมดาให้อสูร  ฝ่ายราหูเป็นพี่น้องกับพระอาทิตย์และพระจันทร์แต่ราหูเป็อสูร  ราหูเห็นเทวดาสดชื่นแข็งแรงเมื่อได้ดื่มน้ำอมฤต แต่อสูรยังคงอ่อนเพลียอยู่ เห็นผิดสังเกต จึงแปลงเป็นเทวดาไปปะปนอยู่ในหมู่เทวดา จึงพลอยได้ดื่มน้ำอมฤตด้วย  พระอาทิตย์และพระจันทร์จึงแอบบอกพระนารายณ์ พระนารายณ์โกรธมากที่ราหูตบตาพระองค์ จึงขว้างจักรไปตัดกลางตัวราหู ร่างกายท่อนบนได้รับน้ำอมฤตก็เป็นอมตะ แต่ร่างกายท่อนล่างตายไป  ราหูจึงเป็นยักษ์มีกายครึ่งท่อน  ราหูโกรธและอาฆาตพระอาทิตย์และพระจันทร์มาก พบที่ไหนก็อมทันที  เกิดเป็นราหูอมจันทร์หรือจันทรคราสและสุริยคราส  ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้ามาเทศนาให้ราหูเลิกพยาบาทจองเวร ราหูจึงได้คลายพระอาทิตย์หรือพระจันทร์ออก
      
 การเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ เล่นในพิธีอินทราภิเษก มีปรากฏในกฎมณเฑียรบาลสมัยกรุงศรีอยุธยา  โขนกลางแปลงนำวิธีการแสดงคือการจัดกระบวนทัพ การเต้นประกอบหน้าพาทย์ มาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ แต่เปลี่ยนมาเล่นเรื่องรามเกียรติ์ และเล่นตอนฝ่ายยักษ์และฝ่ายพระรามยกทัพรบกัน  จึงมีการเต้นประกอบหน้าพาทย์ และอาจมีบทพาทย์และเจรจาบ้างแต่ไม่มีบทร้อง


๒  โขนโรงนอก หรือโขนนั่งราว  เป็นการแสดงบนโรงมีหลังคา ไม่มีเตียงสำหรับตัวโขนนั่ง แต่มีราวพาดตามส่วนยาวของโรงตรงหน้าฉาก (ม่าน)  มีช่องทางให้ผู้แสดงเดินได้รอบราวแทนเตียง มีการพากย์และเจรจา แต่ไม่มีการร้อง  ปี่พาทย์บรรเลงเพลงหน้าพาทย์ มีปี่พาทย์ ๒ วง เพราะต้องบรรเลงมาก ตั้งหัวโรงท้ายโรง จึงเรียกว่าวงหัวและวงท้าย หรือวงซ้ายและวงขวา  วันก่อนแสดงโขนนั่งราวจะมีการโหมโรง และให้พวกโขนออกมากระทุ้งเส้าตามจังหวะเพลง  พอจบโหมโรงก็แสดงตอนพิราพออกเที่ยวป่า จับสัตว์กินเป็นอาหาร พระรามหลงเข้าสวนพวาทองของพราพ แล้วก็หยุดแสดง พักนอนค้างคืนที่โรงโขน รุ่งขึ้นจึงแสดงตามเรื่องที่เตรียมไว้ จึงเรียกว่า "โขนนอนโรง"


๓  โขนหน้าจอ  คือโขนที่เล่นตรงหน้าจอ ซึ่งเดิมเขาขึงไว้สำหรับเล่นหนังใหญ่  ในการเล่นหนังใหญ่นั้น มีการเชิดหนังใหญ่อยู่หน้าจอผ้าขาว  การแสดงหนังใหญ่มีศิลปะสำคัญ คือการพากย์และเจรจา มีดนตรีปี่พาทย์ประกอบการแสดง  ผู้เชิดตัวหนังต้องเต้นตามลีลาและจังหวะดนตรี นิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ต่อมามีการปล่อยตัวแสดงออกมาแสดงหนังจอ แทนการเชิดหนังในบางตอน เรียกว่า "หนังติดตัวโขน" มีผู้นิยมมากขึ้น เลยปล่อยตัวโขนออกมาแสดงหน้าจอตลอด ไม่มีการเชิดหนังเลย จึงกลายเป็นโขนหน้าจอ และต้องแขวะจอเป็นประตูออก ๒ ข้าง เรียกว่า "จอแขวะ"



๔  โขนโรงใน  คือ โขนที่นำศิลปะของละครในเข้ามาผสม  โขนโรงในมีปี่พาทย์บรรเลง ๒ วงผลัดกัน  การแสดงก็มีทั้งออกท่ารำเต้น ทีพากย์และเจรจาตามแบบโขน กับนำเพลงขับร้องและเพลงประกอบกิริยาอาการ ของดนตรีแบบละครใน และมีการนำระบำรำฟ้อนผสมเข้าด้วย เป็นการปรับปรุงให้วิวัฒนาการขึ้นอีก การผสมผสานระหว่างโขนกับละครในสมัยรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒  ทั้งมีราชกวีภายในราชสำนักช่วยปรับปรุงขัดเกลา และประพันธ์บทพากย์บทเจรจาให้ไพเราะสละสลวยขึ้นอีก
        โขนที่กรมศิลปากรนำออกแสดงในปัจจุบันนี้ ก็ใช้ศิลปะการแสดงแบบโขนโรงใน ไม่ว่าจะแสดงกลางแจ้งหรือแสดงหน้าจอก็ตาม






๕  โขนฉาก  เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีผู้คิดสร้างฉากประกอบเรื่องเมื่อแสดงโขนบนเวที คล้ายกับละครดึกดำบรรพ์ ส่วนวิธีแสดงดำเนินเช่นเดียวกับโขนโรงใน แต่มีการแบ่งเป็นชุดเป็นตอน เป็นฉาก และจัดฉากประกอบตามท้องเรื่อง จึงมีการตัดต่อเรื่องใหม่ไม่ให้ย้อนไปย้อนมา เพื่อสะดวกในการจัดฉาก  กรมศิลปากรได้ทำบทเป็นชุดๆ ไว้หลายชุด เช่น ชุดปราบกากนาสูร ชุดมัยราพณ์สะกดทัพ ชุดชุดนางลอย ชุดนาคบาศ ชุดพรหมาสตร์ ชุดศึกวิรุญจำบัง ชุดทำลายพิธีหุงน้ำทิพย์ ชุดสีดาลุยไฟและปราบบรรลัยกัลป์ ชุดหนุมานอาสา ชุดพระรามเดินดง ชุดพระรามครองเมือง
        การแสดงโขน โดยทั่วไปนิยมแสดงเรื่อง "รามเกียรติ์" กรมศิลปากรเคยจัดแสดงเรื่องอุณรุฑ แต่ไม่เป็นที่นิยมเท่าเรื่องรามเกียรติ์  เรื่องรามเกียรติ์ที่นำมาแสดงโขนนั้นมีหลายสำนวน ทั้งที่ประพันธ์ขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์  โดยเฉพาะบทในสมัยรัตนโกสินทร์ นิยมแสดงตามสำนวนของรัชกาลที่ ๒ ที่กรมศิลปากรปรับปรุงเป็นชุดเป็นตอน เพื่อแสดงโขนฉาก ก็เดินเรื่องตามสำนวนของรัชกาลที่ ๒  รัชกาลที่ ๖ ก็เคยทรงพระราชนิพนธ์บทร้องและบทพากย์ไว้ถึง ๖ ชุด คือ ชุดสีดาหาย ชุดเผาลงกา ชุดพิเภกถูกขับ ชุดจองถนน ชุดประเดิมศึกลงกา และชุดนาคบาศ